สัตว์ลำตัวเป็นปล้อง
พวกลำตัวเป็นปล้อง สัตว์พวกนี้ลำตัวกลมยาว คล้ายวงแหวน ต่อกันเป็นปล้อง ผิวหนังเปียกชื้น มีระบบหมุนเวียนเลือดแบบปิด มีระบบประสาท และระบบทางเดินอาหาร สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ มีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้ง 2 เพศในตัวเดียวกัน บางชนิดอาศัยบนบก เช่น ไส้เดือนดิน ทากดูดเลือด บางชนิดอาศัยในน้ำ เช่น ปลิงน้ำจืด
ใส้เดือนดิน
การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน
ปัจจุบันนี้การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ลักษณะการเลี้ยงไส้เดือนดินที่ให้ผลดีทำได้ดังนี้
การเตรียมโรงเรือน
เป็นโรงเรือนบ่อซิเมนต์ที่มีหลังคากันฝนและพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่าง ในบริเวณบ่อเลี้ยงควรมีตาข่ายปิดด้านบน หรือใช้ตาข่ายกั้นบริเวณด้านข้างรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือน
บ่อเลี้ยงไส้เดือน
มีความกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวแล้วแต่ต้องการ และมีความลึกไม่เกิน 0.5 เมตร
บ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน
ควรสร้างบริเวณด้านข้างโรงเรือนหรือด้านหลังโรงเรือน ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เพื่อรับน้ำหมักจากบ่อเลี้ยงไส้เดือนดินให้ไหลไปรวมได้ง่าย
การเตรียมวัสดุรองพื้นเพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน
ใช้วัสดุอินทรีย์สด เป็นวัสดุรองพื้นหนาประมาณ 6 นิ้ว โดยเน้นส่วนที่เป็นผักสีเขียว และวัชพืช หรือหากเป็นการเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะก็จะมีการใช้ขยะสดด้วย แล้วโรยทับด้วยปุ๋ยคอกหนาประมาณ 2 นิ้ว โรยปูนขาวให้ทั่วผิวบน แล้วให้ความชื้นพอเปียกชุ่มแต่ไม่ให้มีน้ำขัง ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จะพบว่าเกิดขบวนการหมัก สังเกตได้โดยมีความร้อนที่สูงขึ้น ทิ้งไว้อีกประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ความร้อนที่เกิดขึ้นหมดไป วัสดุรองพื้นที่ผ่านการหมักที่สมบูรณ์จะไดุ้มีสีเข้มจนเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะร่วนซุยไม่มีกลิ่นเหม็น
การเลี้ยง
เมื่อเตรียมวัสดุรองพื้นได้แล้ว จึงเริ่มปล่อยไส้เดือนดินลงเลี้ยง ควรปล่อยในอัตราไส้เดือนดิน 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 - 5 ตารางเมตร แล้วแต่เงินทุน หรือวัตถุประสงค์ในการเลี้ยง (ถ้าเลี้ยงเพื่อกำจัดขยะของชุมชน ควรปล่อยไส้เดือนดิน 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะช่วยกำจัดขยะสดได้เร็วมาก)
การให้อาหาร
ใช้เศษผักสีเขียว และวัชพืช โรยไปตามหน้าวัสดุรองพื้นในอัตรา 120 - 150 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน (12 - 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว) แต่ถ้าเป็นไส้เดือนดินสายพันธุ์ต่างประเทศจะต้องให้อาหารเป็น 2 เท่า ใช้เวลาประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ จะมีปริมาณไส้เดือนดินเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวของจำนวนที่ปล่อย
การตรวจสอบความชุ่มชื้นของดิน
ถึงแม้จะเห็นว่ามีน้ำขังอยู่ในบริเวณที่ใช้ตรวจสอบระดับน้ำ แต่ก็ควรตรวจสอบความชุ่มชื้นบริเวณผิวหน้าดินทุกวัน โดยใช้สามง่ามขุดผิวหน้าดินลงไปเล็กน้อย หากดินยังคงชื้นอยู่ ก็ไม่ต้องเพิ่มน้ำ แต่ถ้าดินเริ่มแห้งก็รดน้ำลงไปที่หน้าดินบ้าง
ระยะเวลาในการเลี้ยง
จากระยะเวลาเริ่มต้นการเลี้ยง ในช่วงแรกจะใช้เวลามากหน่อย เพื่อให้เกิดไส้เดือนดินเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 4 - 6 เดือน ขึ้นกับจำนวนไส้เดือนดินเริ่มต้นที่ปล่อยลงเลี้ยง และความสมบูรณ์ของตัวไส้เดือนดิน เมื่อมีไส้เดือนดินเกิดมากพอแล้ว จะสามารถจับไส้เดือนดินออกไปเลี้ยงปลาได้วันละประมาณ 300 - 500 ตัวเป็นอย่างน้อย
วิธีการจับไส้เดือนดิน
เมื่อต้องการตัวไส้เดือนดินไปใช้ ก็ขุดดินบริเวณผิวหน้าดินให้เป็นก้อนซึ่งจะเห็นว่ามีตัวไส้เดือนดินอยู่มาก นำดินดังกล่าวไปวางในจานเล็ก ๆ แล้วนำไปแช่น้ำในถาด หรือกะละมัง ประมาณ 1 ชั่วโมง ไส้เดือนดินจะหนีน้ำท่วมออกจากดินไปอยู่ในถาด หรือกะละมัง จึงค่อย ๆ ยกจานดินไปเทคืนลงถังเลี้ยง จากนั้นเทน้ำในถาด หรือกะละมัง ผ่านกระชอนผ้าตาถี่ ก็จะได้ไส้เดือนไว้สำหรับเลี้ยงปลา
หมายเหตุ
1.ไม่ควรใช้เศษผักเป็นอาหาร เพราะจะต้องใช้ในปริมาณค่อนข้างมาก และเศษผักจะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดน้ำขึ้นมาก ที่ผู้เลี้ยงไส้เดือนดินส่วนใหญ่ มีการเก็บน้ำส่วนนี้จากบ่อเลี้ยง และเรียกน้ำที่ได้นี้ว่า "น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน" บางรายก็อธิบายว่าเป็นน้ำที่ไส้เดือนดินขับถ่ายออกมา ซึ่งที่จริงแล้วเป็นน้ำที่เกิดจากการเน่าสลายของเศษผัก วัชพืช และขยะอินทรีย์ที่ใส่ลงไปเลี้ยงไส้เดือนดิน
2.หลังจากเวลา 4 - 6 เดือนเมื่อเกิดไส้เดือนมากแล้ว จะสามารถเลี้ยงไส้เดือนดินอย่างต่อเนื่องไปได้เรื่อย ๆ โดยมีการดูแลแค่การให้อาหาร และความชื้น หากผู้เลี้ยงไม่อยู่หรือขาดการดูแล ไป 10 - 20 วัน ผิวหน้าดินจะแห้ง ไส้เดือนดินส่วนใหญ่ก็จะไม่ตาย เพราะสามารถลงไปอยู่ในดินที่มีความชื้นด้านล่างได้ เมื่อผู้เลี้ยงกลับมาให้น้ำและอาหาร ไส้เดือนดินก็จะกลับขึ้นมาให้เก็บเกี่ยวได้ภายใน 1 - 3 วัน
วีดีโอ การเลี้ยงใสเดือนดิน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น